



ที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการ จังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พร้อมกล่าวคำสดุดี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2175 - พ.ศ. 2231 ครองราชย์ พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) มีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เหตุที่มีพระนามว่า "นารายณ์" มีที่มาน่าสนใจคือ มีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น 4 กร พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูต นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บง
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่าง ยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีก ครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมุหนายกขณะ เดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระ เกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุด ในยุคนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่าง ประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมาก คือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจน มีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่าง ๆ เหนือกว่าชาวเอเชียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ลัทธิคริสต์ศาสนา และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย ด้านวรรณกรรมในสมเด็จพระนารายณ์มิใช่เพียงทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตเท่านั้น หากทรงเป็นกวีและทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แก่ พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์) กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทรคำฉันท์ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง
............................................
นายคมศักดิ์ หล่อเถิน/ข่าว/ภาพ
11 กรกฎาคม 2559