

ท่าเรือแหลมฉบังฯ ร่วมกับผู้ประกอบการ วางแนวทางการเพิ่มตู้สินค้าผ่านท่า เพิ่มรายได้ หลังพบมีปัญหาในเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย
ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางท่าเรือแหลมฉบังได้มีการผลักดันโครงการ ทรานชิปเมนต์ คือการเพิ่มปริมาณสินค้าผ่านมาท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นการเพื่อรายได้อีกทางหนึ่ง โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายจึงได้มีการหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการในท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มจำนวนตู้สินค้าถ่ายลำ ที่มาใช้บริการที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเป็นการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าภายในเขตรั้วของท่าเรือฯ เท่านั้น ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะนี้ ท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ประมาณ 1 แสนกว่าตู้คอนเทนเนอร์ โดยหากเพิ่มเป็น 4 - 5 แสนตู้คอนเทนเนอร์ ต่อปี ก็จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การเพิ่มตู้สินค้าผ่านท่าดังกล่าว จะไม่มีปัญหาต่อการจราจรแต่อย่างไร เพราะเป็นการขนถ่ายในเขตท่าเรือ โดยไม่มีการนำออกมาสู่ด้านนอก
ร.ต.ต.มนตรี กล่าวต่อไปว่า ในการพูดคุยกับผู้ประกอบการท่าเรือต่างๆ พบว่าเกิดจากหลายหน่วยงาน เช่น ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง, กรมเจ้าท่า แต่ก็มีการแก้ไขปรับปรุงไปบ้างแล้ว แต่ก็มีบ้างเรื่องที่ต้องแก้ไขเพิ่ม เช่น กรณีค่าบริการระหว่างการเคลื่อนย้ายระหว่างท่าเรือเรือในเขตรั้วท่าเรือแหลมฉบัง จาก B1 ไป C 1 ซึ่งมีอัตราค่าภาระการเคลื่อนย้าย โดยมีการระบุไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามไม่ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ เพราะเป็นตู้ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น และปลายทางที่ประเทศอินเดีย สายเดินเรือที่มาใช้บริการจะไม่กระทบภายในประเทศ แต่ท่าเรือฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจของท่าเรือแหลมฉบัง ถูกกว่าประเทศสิงคโปร์ แต่ผู้ประกอบการยังไม่มาใช้ เนื่องจากการมีปัญหาบ้าง โดยท่าเรือแหลมฉบังจะแก้ไขปรับปรุงในเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎระเบียบของศุลกากร ซึ่งท่าเทียบเรือของต่างประเทศ มีการดำเนินการไม่เหมือนประเทศไทย โดยศุลกากรได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่วิธีการอาจไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามศุลกากรอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา มีประมาณ 60,000 BTU ล่าสุดขึ้นมา 100,000 กว่า BTU แล้ว แต่อย่างไรก็กำลังพัฒนาให้ลื่นไหลขึ้น
ส่วนปัญหา เรื่องร่องน้ำเดินเรือตื้นเขิน อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ล้าช้าบ้าง เนื่องจากอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีปัญหาและพร้อมจะดำเนินการในเร็วๆ นี้ เพราะท่าเรือมีงบประมาณในการขุดลอกร่องน้ำอยู่แล้ว
สำหรับปัญหาต่างๆ คาดว่าจะดำเนินการแก้ไขในเร็วๆ นี้ คาดว่า ภายใน 4-5 เดือนนี้ ก็สามารถแก้ไขได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่เกิดจากสายการเดินเรือ และเจ้าของเรือ จะตัดสินใจมาใช้ท่าเรือแหลมฉบังหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนตู้สินค้า หากมีตู้สินค้ามาก สายเดินเรือก็จะมาขนเอง ซึ่งหากแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ก็จะดึงดูดสายเดินเรือมาใช้บริการเพิ่มขึ้น
ปริญญา/ข่าว/ภาพ