





การประชุมยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๙ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙
วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๙ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบการคลอดในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขพบว่า วัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีคลอดบุตร เพิ่มขึ้นจากประมาณ ๙๕,๐๐๐ คน ในปีพ.ศ.๒๕๔๖ เป็นประมาณ ๑๐๔,๓๐๐ คนใน ปี ๒๕๕๘ ในจำนวนนี้เป็นการคลอดบุตรโดยวัยรุ่นที่มีอายุน้อย คือ อายุต่ำกว่า ๑๕ ปีประมาณปีละ ๓,๐๐๐ คน นอกจากนั้น วัยรุ่นอายุ ๑๐-๑๙ ปีที่คลอดบุตรซ้ำหรือคลอด เป็นครั้งที่สองขึ้นไปมีมากถึง ๑๒,๗๐๐ คน หรือเท่ากับร้อยละ ๑๒.๒ ของการคลอดในวัยรุ่นอายุ ๑๐-๑๙ ปีทั้งหมด
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขานุการ จึงทำหน้าที่ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๙ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙ ขึ้น ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดูสร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร ยุทธศาสตร์ที่ ๔ พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่นยุทธศาสตร์ที่ ๕ ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ เพื่อให้วัยรุ่นมีความรู้ทางด้านเพศวิถีศึกษา ทักษะชีวิต และเพื่อให้ครอบครัวมีทัศนคติเชิงบวก ช่วยแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงบุตรได้
กริชชัย นักศึกษาฝึกงาน/ภาพ/ข่าว